top of page
siammongkol6

เรือไทยในภาคอีสาน

Updated: Mar 29, 2021

ประวัติความเป็นมาของเรือไทยในภาคอีสาน เรือไทยในภาคอีสานมีความเป็นมาเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ ที่ใช้เรือเป็นพาหนะเดินทาง ขนสินค้า ทำการประมง และเป็น พาหนะลำเลียงพลในยามศึกสงครามสมัยโบราณ เรือไทยในภาคอีสานมี 3 ประเภท คือ ภาพจากหน่วยงานผลิตภาพถ่ายและไมโครฟอร์ม สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

1. เรือขนาดเล็ก เป็นเรือขนาดเล็กทำจากไม้ตะเคียน สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั่วไปเรียกว่า เรือชะล่า แต่รูปร่าง จะคล้ายเรือพายม้าของชาวภาคกลาง 2. เรือขนาดใหญ่ ใช้บรรทุกขนส่งสินค้า เรียกว่า เรือกระแชง หรือ เรือหมากกระแชง รูปร่างคล้ายเรือเอี้ยมจุ๊น แต่ ยาวกว่าเรือเอี้ยมจุ๊นของชาวภาคกลางประมาณ 3 เท่า 3. เรือชะล่าชนิดยาว ทำจากไม้ตะเคียน จุคนได้ตั้งแต่ 24 คน ขึ้นไป ใช้เป็นเรือลำเลียงในยามศึกสงคราม ถ้าว่าง ศึกสงครามใช้แข่งเรือในเทศกาลออกพรรษา เนื่องจากเรือชะล่าเป็นเรือที่ทำจากท่อนไม้ซุงจากต้นตะเคียน ปัจจุบันหาท่อนซุง ขนาดใหญ่มาทำเป็นเรือได้ยากขึ้น จึงมีผู้คิดค้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านต่อเรือขึ้นมาใช้ด้วยแป้นหรือกระดาน 3 แผ่น รูปร่างเพรียว เหมือนกาบบัวหรือกลีบบัว จึงเรียกว่า เรือกาบบัว และเรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า เรือกาบ จุได้ไม่เกิน 7 คน เอกลักษณ์พิเศษของเรือไทยในภาคอีสาน ลักษณะพิเศษของเรือไทยในภาคอีสานจะมีรูปร่างเพรียวและจุคนได้มากกว่าเรือไทยในภาคอื่น ๆ และไม่นิยมตบแต่งด้วย สีสันให้สะดุดตาเหมือนเรือกอและของชาวภาคใต้ ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือที่ท้ายเรือชะละ ท้ายเรือกาบ ชาวบ้านจะติดหาง เสือหรือที่เรียกว่า หมากกะลา ไว้ที่ข้างถือ หางเสือหรือหมากกะลามีลักษณะคล้าย ๆ ใบพาย เจาะรูใส่แกนไว้ หมากกะลาหรือ หางเสือจะทำหน้าที่วาดเรือ วาดท้ายเรือ ขดท้ายเรือให้ได้ทิศทางที่ต้องการ

การต่อเรือในภาคอีสาน การต่อเรือในภาคอีสานมี 2 แบบ คือ 1. การต่อเรือแบบขุด ได้แก่ เรือชะล่า และเรือยาว ขั้นตอนการต่อเรือแบบขุดว่า เมื่อได้ท่อนซุงไม้ตะเคียนที่ผ่านการคัดเลือกและทำพิธีกรรมตามความเชื่อเรียบร้อยแล้ว ถ้าซุงใหญ่ก็ได้เรือขนาดใหญ่ ซุงกลางก็ได้เรือขนาดกลาง ซุงเล็กก็ได้เรือขนาดเล็กเมื่อกะขนาดเรื่อได้เรียบร้อยแล้วช่างต่อเรือก็จะ ใช้ขวานเปิดปีกไม้ออกแล้วเจียนหัวท้ายให้เป็นรูปโคลงเรืออย่างคร่าวๆ เหมือนเรือโกลนของชาวภาคกลาง จากนั้นยกโครงเรือขึ้น วางบนคาน แล้วใช้ขวานถากขุด แต่งให้เป็นตัวเรือ เมื่อเรียบร้อยแล้วจะเปิดเรือทำให้แคมเรือทั้ง 2 ข้างผ่าออกเปิดเรือเพื่อใส่ กระทงที่ชาวบ้าน เรียกกันว่า คันเรือ คันเรือคือไม้ที่ทำด้วยไม้ตะเคียนแต่ชาวภาคกลางเรียกว่า กระทง ชาวอีสานเรียกว่าคันเรือใช้ สำหรับนั่งในการเปิดเรือจะช่าวกันคว่ำเรือลงบนคานแล้วใช้ไฟสุมข้างล่างให้เนื้อไม้ร้อน จากนั้นช่วยกันหงายเรือขึ้นใหม่พร้อมกับใส่ กระทงเข้าในช่องที่เจาะเตรียมไว้ให้ทันกับความความหดตัวของไม้เมื่อเนื้อไม้เย็นลง จะรัดกระทงให้แน่น จากนั้นขั้นสุดท้ายเป็น งานเก็บส่วนที่ยังขาดตกบกพร่องให้เรียบร้อยจนสำเร็จเป็นเรือชะล่าการ ภาพจากหน่วยงานผลิตภาพถ่ายและไมโครฟอร์ม สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

2. การต่อเรือแบบข้างกระดาน ได้แก่ เรือหมากกะแชง และเรือกาบ ต่อเรืออีกประเภทหนึ่งในภาคอีสานเป็นการต่อ เรือขนาดใหญ่ที่เรียกว่าต่อเรือแบบข้างกระดาน ช่างเรือจะวางกระดูกงูวางกระดูกงูไว้ให้เรียบร้อยแล้วต่อโคลงเรือติดโคลงเรือ ถ้า เปรียบเทียบกับตัวงูก็คือกระดูกซี่โครงที่เรียกกระดูกงู จากนั้นเอาไม้กระดานมาต่อให้เป็นตัวเรือเมื่อสำเร็จแล้วช่างทำเรือก็จะเอา หมันมาตอกหมันคือฝ้ายหรือด้าย หรือเชือกที่ทนน้ำ เหนียวๆ ชุบน้ำมันยาง อุดเข้าไปในช่องเพื่อไม่ใช้ให้น้ำรั่วจากนั้นเอาชันสำเร็จ เตรียมไว้เอามายาอีก เรือที่ต่อแบบข้างกระด้าน เรียกว่าเรือ กะแชงหรือเรือหมากกะแชง เรือหมากกะแชงเหมือนกับเรือกะแชง ของชาวภาคกลาง แต่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า เรือโขน เพราะมีลักษณะเป็นโขนหัวท้าย ถ้าไม่เรียกเรือกระแชง เรือหมากกะแชง จะเรียกว่า เรือโขน เรือกาบ มีวิธีต่อง่าย ๆ คือใช้ไม้กระดานเพียง 3 แผ่น ไม่นับแผ่นอัดหัวท้าย ช่างไม้ทั่วไปก็ทำได้ คนที่คิดใช้ ภูมิปัญญาชาวบ้านมาต่อเรือกาบคือชื่อ นายผาย นามสกุล พรรณวงศ์ ต่อเรือชนิดนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2486 ที่อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม หรือคุ้มโพนแก้ว อ. ท่าอุเทน จ.นครพนม เพื่อเป็นการสร้างเรือกาบใช้สอยในชีวิตประจำวันและสร้างจำหน่ายเป็นสินค้า ขณะนี้ราคาลำละเป็นหมื่น ๆ บาท นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ควรยกย่องสรรเสริญ

ประเพณีความเชื่อที่มีเกี่ยวกับเรือไทยในภาคอีสาน ความเชื่อเกี่ยวกับเรือไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณจะเริ่มตั้งแต่การสรรหาต้นตะเคียนให้ได้ตามไม้ลักษณะมงคลมาใช้ ทำเรือ เช่นไม่มีตา ไม่มีรู ไม่มีโพรง ไม่แตกระแหง เป็นต้น เมื่อเลือกได้แล้ว ทำพิธีบวงสรวงรุกขเทวดาที่เชื่อกันว่าเป็นผู้หญิงสิง สถิตอยู่ ทำนองแม่ย่านางหรือเจ้าแม่ตะเคียน เทวดาที่สิงสถิตนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ท่านเรียกว่าแม่นาง ถ้าขนาดใหญ่จะได้เรือใหญ่ ขนาด กลางจะได้เรือขนาดกลาง ขนาดเล็กจะได้ขนาดเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นตะเคียนที่ไปพบ ถ้าต้นตะเคียนที่ไปพบนั้นมีลักษณะไม่เป็น มงคลจะไม่เอา ถึงแม้จะได้ขนาดที่ต้องการแล้วก็ตาม จากนั้นทำพิธีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรุกขเทวดาสิงสถิตอยู่ เชื่อว่าเป็นผู้หญิงหมาย ถึงแม่นางตะเคียน ก่อนตัดต้นตะเคียนต้องทำพิธีขออนุญาตเสียก่อน วันที่ไปตัดต้องไม่ไปในวันเดือนดับ คือ 14 หรือ 15 ค่ำ ถือว่า ไม่เป็นวันมงคล เมื่อนำท่อนซุงมาถึงหมู่บ้าน ต้องทำพิธีบอกกล่าวผีบ้านผีเรือน เจ้าที่เจ้าทางให้รับรู้ เมื่อต่อเรือเสร็จแล้วต้องทำพิธี บายศรีสู่ขวัญรับเรือให้มาค้ำมาคูณแก่ครอบครัว ขณะนำเรือลงน้ำต้องหาฤกษ์หายามให้ดี นิยมนำเรือลงน้ำในวัน 6 ค่ำ นอกจากนี้ยังนับโฉลกความเป็นศิริมงคลของเรือ โดยนำความยาวของกระทงกลางของเรือมานับโฉลกเป็นคืบ ๆ การนับ โฉลกเรือมีดังนี้ "คืบหนึ่ง ผู้ลักแล่นเอาโชคมาให้ คืบสอง ผู้ใบ้แล่นเอาสารมาปัน คืบสาม ค้าขายกับผู้ซื้อ คืบสี่ หมานคู่มื้อบ่วาย คืบห้า ได้ ปลาหลายบ่มีขาด คืบหก เงินคำหยาดเต็มลำเฮือ" โดยภาพรวมโฉลกหมายถึงความมั่งมีศรีสุข ความอุดมสมบูรณ์ เรือที่มีสิริมงคล มีทั้งหมด 6 คืบ ความกว้างของเรือชะล่าโดยทั่ว ๆ มี 6 คืบ แต่โบราณลำดับตั้งแต่ 1 คืบ ถึง 6 คืบ ลักษณะการเลือกเรือ ไปดูเรือนั้นให้ดูความปลอด ปลอดของเรือคือไม่แตก พื้นห้องไม่แตก ไม่มีตา ไม่มีแมง ถ้าตรงคอเรือเป็นรูปดอกจันทร์ หรือดอกพิกุลจะดีมาก เป็นเรือค้ำคูณแก่ครอบครัว วันที่จะเอาเรือลงน้ำควรเป็นวัน 6 ค่ำ หรือวัน 13 ค่ำ ถ้า 6 ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ หรือวันจันทร์ ผู้เฒ่าผู้แก่มีโฉลกไว้ว่า "ทิตย์พุธเช้า พฤหัสศุกร์อ้ายแก่ จันทร์เที่ยงแท้ อังคารคล้ายค่ำเสาร์ก็คือ" กล่าวคือ ถ้าเป็น วันอาทิตย์ต้องลงเรือตอนเช้า พฤหัสศุกร์ชายแก่คือก่อนเที่ยง วันจันทร์ตอนเที่ยง วันอังคารพลบค่ำ และถ้าค่ำเลยจะเป็นวันเสาร์ เวลาไปซื้อเรือเมื่อวางเงินเรียบร้อยแล้ว ทำพิธีขอเรือจากเจ้าของเรือ ขอเรือมาให้เป็นเรือค้ำ เรือคูณ เรือโชค เรือหมาน มีดอกไม้ ธูปเทียนไปขอซื้อ


แหล่งที่มาข้อมูล : สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

1 view0 comments

Recent Posts

See All

เรือไทยในภาคเหนือ

ภาคเหนือของเรา โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนพบว่า ในแถบลุ่มน้ำที่สำคัญคือ ปิง วัง ยม น่าน จะมีการใช้เรือกันเป็นส่วนใหญ่ในการ ประกอบอาชีพ...

ตรุษจีน เทศกาลไหว้และขอพรในวันปีใหม่ของจีน

เทศกาลวันตรุษจีน วันตรุษแปลว่าวันเริ่ม หมายถึงวันเริ่มต้น การเริ่มต้น วันใหม่ เริ่มฤดูกาล ใหม่เริ่มปีใหม่ของคนจีนจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1...

เรือไทยในภาคกลาง

ประวัติความเป็นมาของเรือในภาคกลาง ถ้าจะย้อนถึงประวัติความเป็นมาของเรือไทยในภาคกลางนั้นไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร...

Comments


bottom of page